กฟผ. สื่อสารภารกิจความมั่นคงระบบไฟฟ้ารองรับการฟื้นตัวท่องเที่ยวภาคใต้

กฟผ. สานสัมพันธ์สื่อมวลชนจังหวัดสงขลาจัดกิจกรรม “กินข้าว…เล่าเรื่อง” สื่อสารภารกิจการดูแลรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของภาคใต้ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดกิจกรรมสานสัมพันธ์สื่อมวลชนจังหวัดสงขลา เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเครือข่ายสื่อมวลชนจังหวัดสงขลา พร้อมสื่อสารภารกิจการดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้า การพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า และงานด้านความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม (CSR) ในพื้นที่ภาคใต้ โดยมี นายเขมญาติ ยมานันตกุล ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าจะนะ นายวีระชัย เมืองพูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ นายเกรียงไกร ปิยะธำรงชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าฯ พร้อมผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. และเครือข่ายสื่อมวลชนจังหวัดสงขลา ร่วมกิจกรรม ณ โรงแรมคริสตัลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา

นายเขมญาติ ยมานันตกุล กล่าวว่า จังหวัดสงขลาเป็นศูนย์กลางของระบบเศรษฐกิจและการลงทุนที่หลากหลาย เป็นจังหวัดที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีโรงไฟฟ้าจะนะเป็นโรงไฟฟ้าหลัก ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วม ไทย-มาเลเซีย เป็นเชื้อเพลิงหลัก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าจะนะได้ดำเนินงานภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมอาชีพ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาระบบไฟฟ้าภาคใต้ก็เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น เพราะเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 คลี่คลาย ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทำให้การเติบโตของภาคการท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะภาคใต้คาดการความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มสูงขึ้น กฟผ.จึงต้องเตรียมพร้อมระบบไฟฟ้าให้สามารถรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในภาคใต้ด้วย

ที่ผ่านมา กฟผ. ได้วางแผนการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในระยะยาว โดยดำเนินการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ และ 230 กิโลโวลต์ เชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้าจากภาคกลางไปยังภาคใต้ฝั่งตะวันตกแล้วเสร็จ และกำลังดำเนินการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ ทุ่งสง – สงขลา 3 เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคใต้ เนื่องจากพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีไปจนถึงจังหวัดสงขลา และภาคใต้ตอนล่าง มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และระบบส่งไฟฟ้าหลักในพื้นที่ดังกล่าวมีเพียงระบบส่งไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ และ 115 กิโลโวลต์ เชื่อมโยงภายในภาคเท่านั้น

นอกจากภารกิจหลักแล้ว กฟผ. ยังดำเนินกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งหน้าสู่การสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (EGAT Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 ปัจจุบัน กฟผ. ดำเนินการปลูกป่าภายใต้โครงการ “ปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม” หนึ่งในยุทธศาสตร์การสร้างความยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ปลูกป่าร่วมกัน เพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของผืนป่า และช่วยดูแลรักษาป่าให้เติบโตอย่างยั่งยืน อาทิ กิจกรรมปลูกป่าชายเลยในพื้นที่จังหวัดชุมพร เป็นต้น

Related posts